‘Chineasy’ เมื่องาน illustration ทลายกำแพงหินของภาษาจีน

เชื่อแน่ว่าใครที่เคยเฉียดนิ้วไป lost in translation อยู่ในห้องเรียนภาษาจีนกลางต้องเคยโอดโอยกับความยากระดับมหากาพย์กับตัวอักษรจีนเรือนหมื่นตัวที่แค่เพียงเพิ่มจุด เพิ่มขีด ขีดเพี้ยนจากเฉียงซ้ายไปเป็นเฉียงขวา หรือเขียนผิดตำแหน่งไปแค่หนึ่งมิล ความหมายที่ต้องการสื่อสารก็สามารถเปลี่ยนไปได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ หนำซ้ำการเรียนการสอนส่วนใหญ่ที่เห็นกันอยู่ก็ไม่เอื้อให้คนเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายเข้าไปอีก ผลก็เลยทำให้คนเรียนเกิดอาการท้อแท้ถึงขั้นล้มเลิกไปตั้งแต่ยังเขียนอักษรได้ไม่เป็นตัว ด้วยประการฉะนี้แล้ว ShaoLan Hsueh เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้การเรียนภาษาจีนเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย และรวดเร็ว สำหรับคนที่เกิดอาการฝ่อกับการเริ่มต้นเรียนภาษาจีนที่ต้องจำตัวอักษรที่มีเป็นหมื่นๆ ตัว แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ‘Chineasy’ ซึ่งเป็นการนำเสนอวิธีการสอนแบบใหม่ที่ใช้ภาพและวิดีโอมาเป็นสื่อกลางเพื่อให้การอ่านและจดจำตัวอักษรจีนง่ายและเร็วขึ้นกว่าเดิม

Hsueh เริ่มต้นโปรเจ็กต์นี้ด้วยการย้อนไปดูรากเหง้าของตัวอักษรจีน ซึ่งเธอก็พบว่าอักษรจีนนั้นมีพัฒนาการมาจากภาพวาด เธอจึงหยิบเอาคุณลักษณะและจุดแข็งของอักษรภาพมาใช้ในการสร้างสรรค์ Chineasy ชุดนี้ หัวใจหลักของ Chineasy คือ การหยิบเอาความโดดเด่นของงาน illustration เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมี illustrator อย่าง Noma Bar เข้ามาช่วยคลี่คลายความยากของอักษรแต่ละตัวด้วยภาพสัญลักษณ์ง่ายๆ ที่ดูปราดเดียวก็รู้ได้ทันทีว่าคำๆ นั้นมีความหมายว่าอย่างไร พร้อมกับการเลือกใช้สีสันจัดจ้านในการดึงดูดสายตา โดย Hsueh เพิ่มรายละเอียดให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายขึ้นไปอีก ไล่ไปตั้งแต่การกำกับแต่ละอักษรด้วยคำแปลภาษาอังกฤษ ตัวพินอิน หรือสัญลักษณ์ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้แทนเสียงพูดในภาษาจีนกลาง และปุ่มสำหรับกดฟังเพื่อให้ผู้เรียนออกเสียงได้ตรงตามต้นฉบับ ถัดมาคือคำอธิบายว่าอักษรตัวนั้นประกอบกันขึ้นอย่างไร ไปจนถึงวิธีการผสมตัวอักษรให้เกิดเป็นคำใหม่ขึ้นมานั้นสามารถทำได้อย่างไร

หลังจากที่ Hsueh ส่ง Chineasy เข้าไปในเว็บ Kickstarter โดยตั้งเป้าการระดมทุนครั้งนี้ไว้ที่ประมาณ 3.8 ล้านบาท จนถึงปัจจุบันยอดเงินทุนได้ทะลุเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นก็หมายความว่าเราคงมีโอกาสได้เห็น Chineasy ถูกใช้ในการสอนภาษาจีนในไม่ช้านี้ แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งในความพยายามที่น่าประทับใจของโครงการนี้เท่านั้น เพราะความเจ๋งของโปรเจ็กต์ก็อย่างที่เห็นคือ มันสามารถเข้าไปแก้ปัญหาพื้นฐานของคนที่สนใจเรียนรู้ภาษาจีนได้ตรงจุด สามารถสื่อสารกับผู้ใช้ได้ดี กระชับและเข้าใจง่าย ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การที่เราได้เห็นความพยายามและตั้งใจจริงของ Hsueh ที่อยากสร้าง Chineasy เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวประสานช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกให้ใกล้กันมากขึ้น ทำให้คนซึ่งมีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและภาษามีโอกาสที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจกับแก่นรากทางวัฒนธรรมของคนจีนและประเทศจีนได้ลึกซึ้งขึ้น และท้ายที่สุดมันก็ไม่ใช่แค่ความคิดที่อยู่ในหัว แต่มันถูกทำให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนด้วยมือของเจ้าของวัฒนธรรมที่เคารพและศรัทธาต่อรากเหง้าของตัวเองด้วย

ข่าวล่าสุดตอนนี้คือ Hsueh และทีมงานกำลังมีโปรเจ็กต์ที่จะพัฒนาชุด Chineasy สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการอ่าน (Dyslexia) กันอยู่ เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าหน้าตาของสื่อการสอนชุดนี้จะออกมาในรูปแบบไหน แต่ตอนนี้ ถ้าใครที่เคยท้อใจกับภาษาจีน เรารับรองได้ว่าคุณจะสนุกกับ Chineasy ชุดนี้ชัวร์

ShaoLan Hsueh

[youtube url=”http://youtu.be/sQ0Xrkia63c” width=”600″ height=”350″]

 

[youtube url=”http://youtu.be/O9jp5RJtiIM” width=”600″ height=”350″]

 

[youtube url=”http://youtu.be/troxvPRmZm8″ width=”600″ height=”350″]

 

อ้างอิง: Chineasy