บทลงเอยคดี11ปี ว่าด้วย”กูเกิลบุ๊ก”

(ภาพ-REUTERS)

เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา คดีประวัติศาสตร์แห่ง “ยุคดิจิตอล” คดีหนึ่งถึงที่สิ้นสุด โดยที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากมายนัก เนื่องจากเป็นคดีที่ยืดเยื้อเอามากๆ ยาวนานถึง 11 ปี ชนิดที่ทำเอาหลายๆ คนลืมไปแล้วว่าเขาฟ้องร้องกันเรื่องอะไร

คดีที่ว่านั่้นคือ คดีที่ กูเกิล ตกเป็นจำเลยของสมาคมนักเขียนแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยปัญหาลิขสิทธิ์ในโครงการมหึมาของกูเกิล นั่นคือ “กูเกิล บุ๊ก” ซึ่งถึงตอนนี้สแกนหนังสือไปแล้วมากกว่า 20 ล้านเล่ม

เป้าหมายก็คือการทำให้หนังสือทั้งโลกสามารถ “สืบค้น” พร้อมกับแสดงเนื้อหา “บางส่วน” ได้ผ่านโลกอินเตอร์เน็ต

จริงๆ คดีนี้มีโจทก์อยู่หลายราย อย่างเช่น สมาคมสำนักพิมพ์ ที่เคยพยายามทำความตกลงกับกูเกิลก่อนแต่ศาลปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว ด้วยเกรงว่าจะก่อให้เกิดการ “ผูกขาด” ขึ้นตามมา สุดท้ายที่ต่อสู้กันในศาลจนถึงที่สุดจริงๆ ก็ระหว่างสองฝ่ายนี้เท่านั้น โดยที่เมื่อ 3 ปีก่อนศาลชั้นต้นของสหรัฐอเมริกาเคยพิพากษาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย แต่สมาคมผู้เขียนอุทธรณ์คดีต่อศาลสูงสุด เท่ากับว่า คำพิพากษาครั้งนี้ถือเป็น “ที่สุด” ของคดีนี้แล้ว โดยที่ผลลงเอยด้วยการที่ศาลสูงสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้ยกคำอุทธรณ์ของโจทก์ ให้กูเกิลเป็นฝ่ายชนะคดีไปในที่สุด

Advertisement

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผลลงเอยของคดีนี้ส่งผลสะเทือนมหาศาลทั้งในโลกของหนังสือ ผู้เขียน และในโลกออนไลน์ จนควรค่าแก่การทำความเข้าใจอย่างยิ่ง

คดีนี้รวมศูนย์อยู่ที่ว่า การที่กูเกิลเปลี่ยนหนังสือเป็นเล่มๆ ให้เป็นข้อมูลเชิงดิจิตอลจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อให้สืบค้นได้นั้น กูเกิลถือว่าเป็นการ “เปลี่ยนรูปการใช้ประโยชน์” ดังนั้นจึงไม่ควรถือเป็นการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ของผู้เขียนหนังสือ

สมาคมผู้เขียนแย้งว่า โครงการกูเกิล บุ๊ก ส่งผลให้ “อำนาจในการควบคุม” ต่อการนำหนังสือมาแสดงในรูปแบบดิจิตอลของผู้เขียนแต่ละคนลดลง และอาจเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้ผู้เขียนแต่ละคน “เสียรายได้” ที่สมควรได้รับจากค่าเขียนค่าอนุญาตจัดพิมพ์และรายได้จากการขายหนังสือ นอกจากนั้น การที่ก่อนหน้านี้

Advertisement

กูเกิลบุ๊กจะแสดงผลการสืบค้นควบคู่ไปกับข้อความหรือแบนเนอร์โฆษณา ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้มหาศาลของกูเกิลที่ไม่ได้มีการจัดสรรปันส่วนให้กับผู้เขียนหรือผู้ทรงสิทธิในหนังสือแต่อย่างใด และแย้งด้วยว่า กูเกิลดำเนินการสแกนเพื่อการนี้โดยไม่แจ้งให้ผู้เขียนทราบล่วงหน้า ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างชัดแจ้ง

ในความเป็นจริงแล้ว หนังสือที่กูเกิลสแกนเพื่อจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลของตนนั้น มีเพียงส่วนเดียวที่ “ไม่มีฉบับที่จัดพิมพ์จำหน่ายแล้ว” หรือ “ไม่มีเจ้าของลิขสิทธิ์” แล้ว แต่มีอีกหลายล้านต่อหลายล้านเล่มที่ยังคงมีเจ้าของลิขสิทธิ์ แล้วก็เป็นจริงอีกเหมือนกันที่

กูเกิลเพียงแค่ “ขออภัย” แต่ไม่เคยแจ้ง หรือขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนที่จะสแกนหนังสือแต่ละเล่ม เพราะต้องการเลี่ยงปัญหาลิขสิทธิ์ตั้งแต่ต้นเหมือนกัน

ในทางที่ถูกที่ควร กูเกิลควรจะขออนุญาตทั้งผู้เขียนและสำนักพิมพ์ก่อนหน้าการสแกน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าทำเช่นนั้นป่านนี้โครงการกูเกิลบุ๊กก็อาจถูกจำกัดหลงเหลือเพียงไม่ถึงล้านหรือไม่กี่ล้านเล่ม เพราะจริงๆ แล้วกูเกิลควรขออนุญาต “ทุกฝ่าย” ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือแต่ละเล่มทั้งหมด หากไม่ต้องการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งแม้จะไม่จำเป็นต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แต่ทำให้การดำเนินการในแต่ละเล่มล่าช้าอย่างมากในทางปฏิบัติ เพราะ “ทุกฝ่าย” นั้นเยอะเหลือเกิน

ความพยายามเพื่อประนีประนอมกันก่อนหน้านี้ก็เคยมี แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ข้อยุติ อย่างเช่น กูเกิลยินยอมยกเลิกการแสดงเนื้อหาโฆษณาควบคู่ไปกับผลการสืบค้น พร้อมกันนั้นก็เสนอที่จะแสดงลิงก์เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ที่สามารถซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ ได้ และอ้างมาโดยตลอดว่า การทำให้ทุกคนสามารถค้นหาหนังสือที่ต้องการได้ออนไลน์นั้น จริงๆ แล้วช่วยให้ “ผู้เขียน” ถูกพบเห็นได้บ่อยขึ้นและมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มยอดขายของผู้เขียนแต่ละรายไปในตัว

แต่ฝ่ายโจทก์แย้งว่า พวกผู้เขียนควรมีสิทธิเต็มในการชี้ขาดว่า หนังสือของตนจะปรากฏโฉมหน้าอย่างไร แค่ไหนในโลกดิจิตอล ให้เหมือนกับในโลกที่เป็นสิ่งพิมพ์ แล้วอ้างด้วยว่า การที่ผู้อ่านสามารถสืบค้นต่อเข้าไปในเนื้อหาของแต่ละเล่ม (แม้ไม่ทั้งหมด) แต่เป็นสิ่งที่ผู้อ่านคนนั้นๆ ต้องการ ทำให้โอกาสที่ผู้อ่านรายนั้นจะซื้อหนังสือลดน้อยลง

สุดท้ายแล้ว ศาลสูงของสหรัฐอเมริกาเห็นพ้องกับกูเกิลตรงที่ว่า โครงการกูเกิลบุ๊กนั้นเข้าข่ายเป็นการ “เปลี่ยนรูปการใช้ประโยชน์” ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

หัวใจสำคัญที่ศาลต้องการสื่อออกมาก็คือการทำความเข้าใจว่า “ลิขสิทธิ์” นั้นคืออย่างไร และ “การใช้ประโยชน์อย่างเป็นธรรม” (แฟร์ยูส) เพื่อการใช้งานใน “ปริมณฑลสาธารณะ” หรือ “พับลิกโดเมน” ในยุคดิจิตอลนั้นคืออย่างไร

ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เกิดโครงการทำนองเดียวกันออกมาเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว ยังส่งผลดีต่อการใช้งาน “ที่เป็นธรรม” ในหลากหลายรูปแบบในอนาคตอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image